วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบในประเทศไทย ได้จัดเสวนาวิชาการ บุหรี่ไฟฟ้า วิกฤตสุขภาวะวัยรุ่นไทย โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย , นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม และผู้จัดการโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่ , ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือหมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีนางฐาณิษา สุขเกษม คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กับ ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินรายการ
ประตูที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ คือ บุหรี่ กัญชา และบุหรี่ไฟฟ้า
เริ่มต้นที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิในคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ประตูที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ คือ บุหรี่ กัญชา และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหากเด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้อง 3 สิ่งนี้อาจนำไปสู่สารเสพติดอื่น ๆ และการใช้ความรุนแรงต่อไป ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นน่าเป็นห่วง และอาจถึงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ที่เริ่มเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ในรายงานการสำรวจสุภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 2562-2563 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นระหว่าง 10-19 ปี เคยลองสูบ ร้อยละ 5.3 สูบเป็นประจำ ร้อยละ 2.9 และที่สำคัญ ร้อยละ 30 เป็นวัยรุ่นหญิงที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นภัยร้ายตัวใหม่สำหรับวัยรุ่น หากเราไม่รีบเร่งแก้ไขหรือปล่อยไว้อาจส่งอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน เช่น สมอง หัวใจ ปอด และมะเร็ง
ประสบการณ์เครือข่ายเด็กและเยาวชน ครู ครอบครัว ต่อวิกฤตบุหรี่ไฟฟ้า
สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนในปัจจุบันของประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ที่ผ่านมาพบว่า เด็ก ป.5 ก็สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นแล้ว แต่ไม่ได้สูบเพียบคนเดียว แต่รวมกลุ่มกันสูบมากกว่า 20 คน จุดมุ่งหมายของการขายบุหรี่ไฟฟ้า คือ เด็กและเยาวชน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนาปรับผลิตภัณฑ์ให้เหมือนเครื่องประดับในร่างกาย ทำให้เด็กและเยาวชนหลาย ๆ คนอยากสูบ เพราะรู้สึกเท่ห์ จนกลายเป็นค่านิยมในหมู่วัยรุ่น และตอนนี้ไม่ใช่แค่วิกฤตสุขภาพ และเป็นวิกฤตของประเทศ เราควรผลักดันเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นวาระของชาติ ถ้าเด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้เร็ว พวกเขาก็จะเข้าสู่สารเสพติดอื่น ๆ รวมถึงการใช้ความรุนแรงได้เร็วขึ้น เช่นเดียวกัน ดังนั้นเราต้องกันเด็กและเยาวชนไทยไม่ให้เข้าสู่วงจรสีเทานี้ จึงเป็นภารกิจของทุกคนที่ต้องช่วยกัน สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างสถานการณ์ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงเด็กและเยาวชนง่ายมากขึ้น ไม่ได้เพียงแต่ซื้อในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ในตลาดก็สามารถหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ รวมไปถึงในโรงเรียนอีกด้วย บุหรี่ไฟฟ้าลักษณะภายนอกคล้ายอุปกรณ์เรียนของเด็กและเยาวชน ขณะนี้พบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กระดับประถมศึกษาในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่ครูและผู้ปกครอง ให้รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า และมีเครือข่ายที่มีผู้ปกครองช่วยกัน